มะขามเปรี้ยวยักษ์
ใครที่มีพื้นที่ว่างแต่ยังไม่ได้ตัดสินใจปลูกอะไร ลองพิจารณาพืชเศรษฐกิจอีกหนึ่งที่สามารถทำราคาได้ ปลูกก็ง่าย ดูแลไม่ยุ่งยาก สามารถขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด เช่น ดินลูกรัง ดินดาน ดินเหนียว ดินทราย แต่ดินที่เหมาะที่สุดจะเป็นดินร่วนปนทราย ซึ่งมีการระบายน้ำดี เพราะมะขามเป็นพืชทนแล้ง มะขามเปรี้ยวให้ผลดก ติดฝักง่าย ต้นไม่สูงมาก เป็นทรงพุ่มกิ่งจะขยายออกด้านข้างมีฝักขนาดใหญ่ ให้เนื้อในปริมาณที่มากกว่ามะขามเปรี้ยวทั่ว ๆ ไป มะขามเปรี้ยวยักษ์ มี 2 ชนิด คือ ฝักตรง ฝักงอ หรือฝักโค้งมะขามทั้งสองประเภทนี้ มีรดชาด เปรี้ยวจี๊ดจ๊าดเหมือนกัน 5-7 ฝัก/กิโลกรัม ให้ผลผลิตประมาณ 1 ต้น/ตัน เพราะฝักของ มะขามเปรี้ยวยักษ์ มีฝักขนาดใหญ่มาก เนื้อมาก น้ำหนักดี และเปรี้ยวมากๆ เป็นที่ต้องการของตลาดมาก
หลังจากที่ต้นมีอายุประมาณ 10 ปีไปแล้ว สามารถเก็บฝักกินได้เป็นร้อย ๆ ปี ใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่ยอดอ่อน ฝักอ่อนส่งโรงงานน้ำพริก ฝักดิบนำไปแปรรูปเป็นมะขามแช่อิ่ม ฝักแก่นำมาทำเป็นมะขามเปียกแกะเมล็ดขายได้ และมะขามยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้อีกหลายอย่าง
เนื้อของมะขามเปรี้ยวมีกรดทาริทาริคสูงประมาณ 12-14% ประกอบด้วยกรดอินทรีย์หลายชนิดจึงมีรสเปรี้ยว ทั้งยังมีสาร “แพคติน” และ“กัม” อยู่ด้วยทำให้มีฤทธิ์เป็นยาระบายช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย นอกจากเนื้อมะขามเปรี้ยวจะมีวิตามินสูงแล้ว ใบมะขามอ่อน ดอกมะขามและฝักอ่อนมะขามก็ยังมีวิตามินซีสูงด้วยเช่นกัน จึงมีผู้นำมาประกอบอาหารต่าง ๆ ได้หลายอย่างเนื้อมะขามเปรี้ยวยักษ์เวลาสุกจะเป็นแดงน้ำตาลมีรสเปรี้ยวกว่ามะขามธรรมดาประมาณ 2 เท่า
การดูแลโรคและแมลงรบกวน
มะขามเปรี้ยวยักษ์ เป็นพืชทนแล้งสามารถเจริญเติบโตได้ดีแม้ในพื้นที่แห้งแล้ง ธรรมชาติของมะขามเปรี้ยวยักษ์มีความแข็งแรงทนทานมาก มะขามเปรี้ยวจะเริ่มสลัดใบในช่วง มีนาคม-เมษายน ในช่วงหน้าร้อนยิ่งแล้งก็ยิ่งร่วง แต่หลังจากที่รับน้ำในต้นฝน มะขามเปรี้ยวก็จะแตกใบอ่อน และในการแตกใบอ่อนก็จะออกดอกติดฝักมะขามจะออกหลายชุดใน 1 ปี แต่ในหนึ่งชุดนั้นจะมีหลายชุดประมาณ 10-20 ชุด
ชุดแรกจะออกในช่วงต้นฝนประมาณพฤษภาคมแต่ก็ยังติดไม่มากนัก บางครั้งเจอลมเจอฝนออกก็อาจจะร่วง ส่วนชุดถัดไปจะเริ่มติดมากขึ้นในแต่ละรุ่นการสุกก็จะอยู่ไล่เลี่ยกัน ใช้เวลาตั้งแต่ออก ดอกจนถึงฝักแก่ก็ประมาณ 3-4 เดือนเลยทีเดียว
แต่ถ้าจะเก็บฝักดิบในการนำไปแช่อิ่มจะอยู่ประมาณกันยายน-ตุลาคม ชุดแรกฝักแก่ประมาณธันวาคมแล้วก็ไล่ไปเรื่อยจนถึงชุดสุดท้าย อาจเก็บฝักแก่ประมาณ มีนาคม วิธีจะดูว่าฝักมะขามจะเก็บได้หรือยังในฝักแก่หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า มะขามกอก เราจะสังเกตุจากสีของเปลือกมะขามจะมีสีน้ำตาลนวล ๆ หรืออาจเป็นสีน้ำตาลเหลือง เวลาสุกให้ใช้นิ้วดีดเบา ๆ จะมีเสียงออกกลวง ๆ แต่ถ้ายังไม่สุกเสียงในการดีดฝักจะออกแน่น ๆ ในฝักที่สุกแล้วใช้นิ้วขูดที่ผิวของฝักจะไม่เป็นริ้วรอย เนื้อจะแห้งยุบตัวแยกออกจากเปลือก
โรคของมะขามเปรี้ยวที่อาจจะเกิดคือโรคของแมลงรบกวนมากัดกินใบอ่อนบ้างแต่ไม่มาก ส่วนอีกโรคคือโรคราแป้งขาว จะเกิดเชื้อระบาดรุนแรง ในสภาพอากาศที่เย็นและแห้ง ซึ่งจะทำให้ต้นมะขามโทรม ถ้าเป็นในช่วงออกดอกติดฝักจะทำให้ลดจำนวนลง มักเกิดในช่วงปลายฝนเราสามารถใช้กำมะถันผงฉีดพ่นช่วงเย็น ๆ ประมาณ 1-2 ครั้ง ราแป้งก็จะหายไป
การตลาด
มะขามเปรี้ยวเป็นพืชเศรษฐกิจที่จะสร้างรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกร มะขามเปรี้ยวเป็นไม้ผลยืนต้นที่สามารถเก็บกินเป็นร้อย ๆ ปี มะขามเป็นไม้ผลพื้นบ้านที่อยู่คู่ครัวคนไทยมานาน และขึ้นอยู่ตามสถานที่ทั่ว ๆ ไป เป็นไม้ผลที่ขึ้นง่ายไม่ต้องดูแลมากแต่มีคุณประโยชน์มากมาย มีสรรพคุณทางสมุนไพรเป็นยาระบายที่ดีเยี่ยม นำมาประกอบอาหารได้มากมายสามารถแปรรูปได้หลายอย่าง สมัยก่อนมะขามเปรี้ยวเป็นไม้ผลที่ถูกคนมองข้ามเพราะเปรียบเสมือนไม้ข้างถนนที่คนไม่ค่อยให้ความสำคัญ แต่ในปัจจุบันมะขามเปรี้ยวยักษ์กลับมีคนกล่าวขานกันมากขึ้นในเรื่องของความดกและความใหญ่ของฝัก และที่สำคัญในตอนนี้มะขามเปรี้ยวเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศทางตะวันออกกลางที่สั่งซื้อมะขามเปรี้ยวจากเมืองไทยเป็นจำนวนมาก และในแต่ละปีความต้องการใช้มะขามเปียกก็มีจำนวนมากขึ้นจาก 100 เป็น 1,000 ตันเลยทีเดียว บางปีที่มะขามเปรี้ยวในบ้านเราเราขาดแคลน โรงงานประเภทน้ำพริกก็จะซื้อมะขามนำเข้ามาจากพม่า ลาว หรือเขมร โดยมะขามเปรี้ยวจากพม่าจะนำเข้ามาทางแม่สอด จังหวักตาก ในช่วงระหว่างเดือน เมษายน-พฤษภาคม ประเทศที่มีความต้องการมะขามเปรี้ยวมากที่สุดในขณะนี้คือประเทศอาหรับ เนื่องจากประเทศอาหรับมีสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง ในฤดูร้อนจะประสบปัญหาในเรื่องการขาดแคลนน้ำ คนอาหรับจะนำมาขามเปรี้ยวไปอมไว้เพื่อเรียกน้ำลายแล้วกลืนเพื่อคลายความอยากน้ำ ส่วนตลาดส่งออกทีสำคัญอื่น ๆ คือ ปากีสถาน มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย ซาอุดิอาระเบีย คูเวต แอฟริกาใต้ บรูไน สิงค์โป แคนนาดา เป็นต้น
ดังนั้นใครที่มีพื้นที่ว่าง ๆ อยู่ คงไม่อาจมองข้ามไม้ผลบ้าน ๆ ที่อยู่คู่คนไทยอย่างเช่นมะขามเปรี้ยวที่ดูแลง่าย สามารถทำตลาดได้หลากหลายช่องทาง อีกทั้งยังมีความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นอีกทุก ๆ ปี โดยเฉพาะประเทศไทยที่ต้องการเป็นครัวโลก เราก็ไม่ควรเมินเฉยมะขามเปรี้ยวยักษ์ไม้ผลพื้นบ้านที่ยิ่งใหญ่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น